วันศุกร์ที่ 10 เดือน พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2560 คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา นำโดย บาทหลวงธีรพล กอบวิทยากุล ผู้จัดการโรงเรียนฯ, บาทหลวงอิทธิพล ศรีรัตนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ, มาเซอร์ซองตาล ตรีว่าอุดม รองผู้อำนวยการโรงเรียนฯ, คณะผู้บริหารโรงเรียนฯ พร้อมทั้ง คณะครู และนักเรียน โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ เข้ารับการประเมินสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเภทมัธยมศึกษา ขนาดใหญ่ รอบที่ 2 โดยใช้สถานที่ คือ แผนกสามัญชาย และได้รับเกียรติจากคณะกรรมการระดับกลุ่มจังหวัดที่ 1 เป็นคณะกรรมการ ดังนี้ นายวิชัย สายรวมญาติ ประธานกรรมการ , คุณกุลธิดา ปัญญาจิรวุฒิ กรรมการ , คุณไชยากาล เพชรชัด กรรมการ, คุณสุนทรี หิมารัตน์ กรรมการ , คุณชวิศาณัฏฐ์ รัตนคเชนทร์ กรรมการและเลนานุการ และคุณสุกฤตภัทร ใจรื่น ผู้ช่วยเลขานุการ
ในพิธีเปิด ผู้อำนวยการโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ แนะนำคณะกรรมการ และชมการแสดงต้อนรับบาสโลบและกองเชียร์แต่ละสี และร่วมรับชมวิดีทัศน์แนะนำโรงเรียน พร้อมผลการดำเนินงานทั้ง 6 ด้าน
โดยการประเมินด้านปัจจัย กระบวนการ และผลผลิต รวม 6 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 คุณภาพผู้เรียน, ด้านที่ 2 การบริหารหลักสูตรและงานวิชาการ, ด้านที่ 3 การบริหารการจัดการ, ด้านที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครองและชุมชน, ด้านที่ 5 บุคลากรและการบริหารงานบุคลากร และด้านที่ 6 ความดีเด่นของสถานศึกษา โดยคณะกรรมการได้รับชมการนำเสนอเอกสาร, การจัดนิทรรศการแสดงผลงานนักเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้จากทุกแผนก พร้อมนักเรียนบรรยาย รวมถึงได้สัมภาษณ์ สอบถามโดยตรงกับ เครือข่ายผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และนักเรียน เพื่อประเมินคุณภาพหลักสูตร ผู้เรียน และความสัมพันธ์ โดยได้รับเกียรติจากหน่วยงาน ดังนี้ สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์, สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์, ผู้แทนชุมชน (สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดนครปฐม), สถานีตำรวจภูธรโพธิ์แก้ว, เครือข่ายผู้ปกครอง ทุกแผนก นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความสามารถของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากทุกแผนก รวม ชุดการแสดง ดังนี้ จินตลีลาเพลงล้นเกล้าเผ่าไทย, จินตลีลาเพลงพระราชนิพนธ์ ใกล้รุ่ง, ลีลาศประกอบเพลงพรหมลิขิต, ระบำขวัญชาติธงชัยและบรรเลงดนตรีไทย, แสดงวงโปงลาง และเชิ้งตังหวาย, ศิลปะป้องกันตัวแม่ไม้มวยไทย และจินตลีลา ประกอบการแปรอักษรเพลงผู้ปิดทองหลังพระ
ในการประเมิน และคัดเลือกสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน สำหรับสถานศึกษาที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครนั้น ประกอบไปด้วย 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา, ระดับจังหวัด, ระดับกลุ่มจังหวัด และจะต้องผ่านการดำเนินการประเมินโดยหน่วยงานตามลำดับ ดังนี้ คณะกรรมการระดับเขตพื้นที่การศึกษา, คณะกรรมการระดับจังหวัด, คณะกรรมการระดับกลุ่มจังหวัด, คณะกรรมการดำเนินงานระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน, คณะกรรมการอำนวยการ และกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ คุณภาพการศึกษาเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ขึ้นอยู่กับมุมมองของนักการศึกษา ว่าจะมองในมิติใด แต่ส่วนใหญ่มักมองใน 3 มิติ ดังนี้ คุณภาพของทรัพยากรที่ใช้ใน การจัดการเรียนการสอน รวมถึงคุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา, คุณภาพด้านการจัดการเรียนการสอน และ คุณภาพของผลผลิต นอกจากนี้ อาจหมายรวมถึง ความคาดหวังของชุมชน เห็นได้จากการที่มีการกำหนดเป้าหมายของการจัดการศึกษาร่วมกันและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน